การจัดทำร่างกฏหมาย
การจัดทำร่างกฏหมาย
 
ความเห็น ร่างพระราชบัญญัติการค้าของเก่า
# ความเห็น
16เห็นด้วย เนื่องจากมีการแก้ไขกฎหมายให้ประกอบธุรกิจง่ายขึ้นและค่าธรรมเนียมลดลง
18เห็นชอบ
19เห็นชอบ
20เห็นชอบ
21 การรับฟังความคิดเห็นเพื่อใช้ประกอบการประเมินผลสัมฤทธิ์ของ พระราชบัญญัติควบคุมการขายทอดตลาดและค้าของเก่า พุทธศักราช 2474 สมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย จัดตั้งขึ้นเพื่อ ส่งเสริมให้ความร่วมมือแก่สมาชิก ประชาชนทั่วไป รวมทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน ในการสะสมและอนุรักษ์ พระเครื่อง พระบูชา ตลอดจนโบราณวัตถุต่าง ๆ เผยแพร่ความรู้ที่ถูกต้องในการอนุรักษ์ อันเป็นแนวทางความรู้ที่ได้มาตรฐาน รวมทั้งตรวจพิสูจน์พระเครื่อง พระบูชา วัตถุโบราณ เพื่อให้คงอยู่เป็นมรดกของลูกหลานไทยสืบไป สมาคมจึงไม่ได้จัดตั้งขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ ในการค้าขายพระเครื่อง พระบูชา หรือวัตถุโบราณ ใด ๆ และไม่ใช่สมาคมผู้ค้าของเก่า ซึ่งตามแนวทางของสมาคมจัดว่า พระเครื่อง เครื่องรางของขลังประเภทต่าง ๆ เป็นวัตถุมงคลที่พระสงฆ์ คณาจารย์ผู้สร้าง ได้จัดสร้างขึ้นเพื่อแจกจ่าย หรือจำหน่ายให้แก่พุทธศาสนิกชนทั่วไป นำติดตัวไปสักการะบูชา เพื่อเป็นศิริมงคล ป้องกันภัยอันตราย และเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของตน และการจำหน่ายวัตถุมงคล เงินที่ได้จากการนั้นก็เพื่อบำรุงวัด ศาสนสถานต่าง ๆ และเพื่อบำรุงพุทธศาสนา มิใช่เพื่อการค้า พ.ร.บ. ควบคุมการขายทอดตลาดและค้าของเก่า พ.ศ. 2474 มาตรา 3 ได้บัญญัติ ความหมายของคำว่า “ของเก่า” หมายความว่า ทรัพย์ที่เสนอขาย แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายโดยประการอื่นอย่างทรัพย์ที่ใช้แล้ว ทั้งนี้ รวมถึงของโบราณด้วย กฏหมายที่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ. นี้ คือ พ.ร.บ. โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 มาตรา 4 ได้บัญญัติความหมายของคำว่า “โบราณวัตถุ” หมายความว่า สังหาริมทรัพย์ที่เป็นของโบราณ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งประดิษฐ์ หรือเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ หรือเป็นส่วนหนึ่งส่วนใดของโบราณสถาน ซากมนุษย์หรือซากสัตว์ซึ่งโดยอายุหรือโดยลักษณะแห่งการประดิษฐ์ หรือโดยหลักฐานเกี่ยวกับประวัติของสังหาริมทรัพย์นั้นเป็นประโยชน์ในทางศิลปะ ประวัติศาสตร์ หรือโบราณคดี “ศิลปวัตถุ” หมายความว่า สิ่งที่ทำด้วยฝีมืออย่างประณีตและมีคุณค่าสูงในทางศิลปะ พระเครื่อง เครื่องรางประเภทต่าง ๆ ไม่ใช่ของเก่า แต่เป็นทรัพย์ที่มีสถานภาพเป็นวัตถุมงคล ที่ผู้คนให้ความเคารพบูชา และวัตถุประสงค์ในการซื้อขาย ไม่ต้องกับความหมายว่า คือทรัพย์ที่เสนอขาย แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายโดยประการอื่นอย่างทรัพย์ที่ใช้แล้ว เพราะผู้ซื้อและผู้ขายไม่ได้มุ่งหวังหรือมีความประสงค์ในการซื้อขายแบบของที่ใช้แล้ว แต่เป็นเพราะความศรัทธาของประชาชนต่อคณาจารย์ผู้สร้าง และเชื่อว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ควรค่าแก่การสักการะบูชา เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ มีไว้ -2- เพื่อป้องกันภัยอันตราย รวมทั้งเป็นความเชื่อทางด้านโชคลาภ และเพื่อรำลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้า อีกทั้งราคาในการซื้อขายวัตถุมงคลมิได้ลดน้อยลงตามสภาพของที่ผ่านการใช้งาน ดังเช่นของเก่า แต่กลับจะมีราคาสูงขึ้นเรื่อย ๆ ตามความเชื่อและความศรัทธาของประชาชนและนิยมเช่าหาเพื่อให้ได้มาครอบครอง จึงไม่อาจถือได้ว่าการค้าขายพระเครื่องและเครื่องรางประเภทต่าง ๆ เป็นการค้าของเก่า หรือนำไปจำหน่ายแบบทรัพย์ที่ใช้แล้ว ที่จะต้องยื่นคำขออนุญาตค้าของเก่าตาม พ.ร.บ. ควบคุมการขายทอดตลาดและค้าของเก่า พ.ศ. 2474 และตามกฏกระทรวงมหาดไทย ที่ออกความตาม พ.ร.บ.นี้ ในข้อ (2) การค้าของเก่า (ง) ประเภทอื่น ๆ คำว่า ของเก่า ตามความหมายของกฏหมายฉบับนี้ เป็นคำจำกัดความที่กว้างขวางมาก ทรัพย์ที่เสนอขาย แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายโดยประการอื่นอย่างทรัพย์ที่ใช้แล้ว ถือว่าเป็นการค้าของเก่า ดังนั้นไม่ว่าทรัพย์อะไรที่เข้าลักษณะคำจำกัดความดังกล่าว จึงถือว่าเป็นการค้าของเก่าทั้งสิ้น รวมทั้งพระเครื่องและเครื่องรางประเภทต่าง ๆ ด้วย สมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย มีความเห็นด้วยที่กรมการปกครอง มองเห็นว่ากฏหมายฉบับนี้ เป็นภาระอุปสรรคแก่ประชาชนผู้ประกอบการค้า เช่นการที่กฏหมายมิได้บัญญัติกำหนดว่าลักษณะหรือพฤติการณ์ใด ถือว่าเป็นการประกอบอาชีพค้าของเก่าที่จะต้องขอรับใบอนุญาต ทำให้การตีความบังคับใช้กฏหมายของเจ้าหน้าที่ขาดความชัดเจน พระเครื่อง เครื่องรางประเภทต่าง ๆ ไม่จัดอยู่ในทรัพย์ที่เป็นของโบราณ รวมทั้งไม่จัดว่าเป็น โบราณวัตถุ หรือศิลปวัตถุ ตาม พระราชบัญญัติ โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 เพราะเหตุว่า ทางวัดหรือคณาจารย์ผู้จัดสร้าง ได้ทำการสร้างครั้งละเป็นจำนวนมาก เพื่อให้ได้มีการเช่า ซื้อหา จ่ายแจก ไปยังประชาชนพุทธศาสนิกชนทั่วไป ได้มีไว้เป็นที่เคารพสักการะบูชา ยึดเหนี่ยวจิตใจ เป็นศิริมงคล และเพื่อเป็นการเผยแพร่ และจรรโลงพุทธศาสนา มิได้สร้างเพื่อให้ เกิดความปราณีตและมีคุณค่าสูงทางศิลปะ หรือโดยลักษณะแห่งการประดิษฐ์ หรือโดยหลักฐานเกี่ยวกับประวัติ เป็นประโยชน์ในทางศิลปะ ประวัติศาสตร์ หรือโบราณคดี ดังตัวอย่างเช่น พระพุทธรูปองค์สำคัญต่าง ๆ ที่ประดิษฐานอยู่ตามโบสถ์วิหารของวัดในประเทศ ตู้พระธรรมลายรดน้ำ บานประตูโบสถ์ หน้าบรรณ ซึ่งมีน้อยชิ้นและหาทดแทนไม่ได้ พระเครื่องสร้างขึ้นมาจากแม่พิมพ์ ผลิตขึ้นเหมือน ๆ กันเป็นจำนวนมาก เครื่องรางประเภทต่าง ๆ ก็มีการสร้างในลักษณะเดียวกัน คือมีแม่แบบหรือต้นแบบ และผลิตขึ้นมาจำนวนมากชิ้น มีขนาดเล็กเพื่อให้เหมาะสมกับการพกพาติดตัว อย่างเช่นเหรียญคณาจารย์ หรือเหรียญหลวงพ่อต่าง ๆ ทางวัดได้ว่าจ้างโรงงานผลิตเหรียญพระเครื่อง โดยใช้เครื่องจักรในการผลิต ใช้วิธีปั๊มขึ้นรูป แล้วจึงนำไปเข้าพิธีปลุกเสก เพื่อให้มีพุทธคุณ การผลิตดังกล่าวจึงไม่เข้าข่ายสิ่งประดิษฐ์อย่างประณีตเพื่อให้มีคุณค่าทางศิลป แต่เพราะความต้องการให้มีคุณค่าทางพุทธคุณ อีกทั้งพระเครื่องเครื่องรางมิได้มีความเก่าถึง -3- ขนาดโบราณวัตถุอันเป็นประโยชน์ทางศิลปะ ประวัติศาสตร์ หรือโบราณคดี เช่นศิลปะบ้านเชียง หรือซากมนุษย์ดึกดำบรรพ์ ศิลปวัตถุนั้นเป็นงานฝีมือที่ประดิษฐ์อย่างประณีต มีจำนวนน้อยชิ้น หายาก จึงมีคุณค่าทางศิลปะ โบราณวัตถุก็เป็นของเก่าที่หายากมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ และโบราณคดี อีกทั้งยังมีขนาดที่ใหญ่กว่าวัตถุมงคล หากศิลปวัตถุ โบราณวัตถุ มีจำนวนมาก เหมือน ๆ กัน จะถือว่ามีคุณค่าได้อย่างไร พระเครื่องและเครื่องรางแม้ต่อมาจะมีการซื้อขาย แลกเปลี่ยนผ่านมือประชาชน ทำให้มีราคาสูงขึ้น แต่ก็เกิดจาก เพราะเป็นทรัพย์มีคุณค่าทางด้านจิตใจ ต่อผู้ที่มีความศรัทธาเคารพนับถือ มิใช่เพราะเป็นศิลปวัตถุ หรือโบราณวัตถุ จึงไม่ถือว่าเป็นทรัพย์ที่ถือว่าเข้าหลักเกณฑ์ตามความหมาย ศิลปวัตถุ หรือโบราณวัตถุ ตามพ.ร.บ. โบราณสถาน โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 ที่จะต้องยื่นคำขออนุญาตค้าของเก่าตาม พ.ร.บ. ควบคุมการขายทอดตลาดและค้าของเก่า พ.ศ. 2474 และตามกฏกระทรวงมหาดไทย ที่ออกความตาม พ.ร.บ.นี้ ในข้อ (2) การค้าของเก่า (ก) ประเภทโบราณวัตถุหรือศิลปวัตถุตามกฏหมายว่าด้วยโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สมาคมผู้นิยมพระเครื่องพระบูชาไทย




































































































ส่วนงานนิติการ สำนักการสอบสวนและนิติกร โทร.023569569
ออกแบบและพัฒนาโดย ศูนย์สารสนเทศเพื่อการบริหารงานปกครอง